วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

วิธีการสังเกตคำบาลี-สันสกฤต

เรื่่องการสังเกต  คำบาลี- สันสกฤต

                  เรื่องนี้้  ฉันเขียนขึ้นตามคำขอของ  คุณ เด็กเรียน  ซึ่งขอมาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน  พอดีฉันเดินทางไปเที่ยวประเทศ ฮังการี  เชค และออสเตรีย  ตั้งแต่วันที่  7-14  เมษายน  หลังจากกลับมาแล้ว  ฉันก็ติดภารกิจดูหนังสือเพื่อสอบภาษาจีนที่ลงเรียนไว้ที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  เลยทำให้การเขียนเรื่อง การสังเกตคำบาลี-สันกฤตตามคำขอของ คุณเด็กเรียน ช้าไปหน่อย  ต้องขอโทษนะคะ  หวังว่า  คุณเด็กเรียนคงเข้ามาอ่านตามที่ได้ขอเอาไว้ 

                 คำบาลี-สันสกฤต  เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในภาษาไทย  เพราะเป็นภาษาที่ไทยเรารับเข้ามาใช้ในภาษาไทยมากเหลือเกิน    และที่สำคัญ  เราจำเป็นต้องรู้จักสองภาษานี้  เพื่อที่จะทำให้เราเรียนรู้เรื่องของคำสมาสได้  (ซึ่งคำสมาสจะมีสองวิธี  คือ วิธีสมาสและวิธีสนธิ)    เนื่องจาก  คำสมาส ต้องมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น  จึงจะนำมาสมาสและสนธิไ้ด้  นั่นเอง  

                 หลักการสังเกตคำบาลี-สันสกฤต

1. คำบาลีส่วนใหญ่จะมีตัวสะกดตัวตาม  หมายถึงมีตัวสะกดตามพยัญชนะวรรคที่ได้แบ่งไว้  ดังนี้   (ส่วนคำสันสกฤตจะไม่มีตัวสะกดตัวตาม)

แถวที่            1                    2                   3                4                5

วรรค    ก        ก                  ข                   ค               ฆ                 ง
วรรค    จ        จ                  ฉ                   ช               ฌ                ญ
วรรค    ฏ        ฏ                  ฐ                   ฑ               ฒ               ณ
วรรค    ต        ต                  ถ                   ท               ธ                 น
วรรค    ป        ป                  ผ                   พ              ภ                 ม

ตามกฏ  แถวที่ 1 สะกด  ตัวที่ตามมา  มี ตัวแถวที่ 1หรือ 2 ในวรรคเดียวกัน เป็นตัวตามได้    เช่น  สักกะ    ทุกข์   เป็นต้น
              แถวที่ 3 สะกด  ตัวที่ตามมา  มี แถวที่ 3 หรือ 4 ในวรรคเดียวกันเป็นตัวตามได้  เช่น  กิจจา    อัจฉรา  เป็นต้น
              แถวที่ 5 สะกด  ตัวที่ตามมา  สามารถตามได้ทุกแถว แต่ต้องเป็นวรรคเดียวกัน  เช่น  องก์  (ตอนหนึ่ง  ฉากหนึ่ง)   สังข์    องค์    สงฆ์   (ง สะกด  ง  ตามไม่ค่ะ)   สัญญา  สัณฐาน   อัชฌาสัย   อัณฑะ  อันตะ  (ไส้ใหญ่)   เป็นต้น

2. สังเกตจากตัวพยัญชนะ  บาลีจะมีพยัญชนะ  33   ตัว  สันสกฤต มี  35 ตัว จะมีมากกว่า บาลี  2  ตัว  คือ    ตัว  ษ  ศ  ดังนั้น  ถ้าเห็นคำใดมี  ษ  หรือ ศ  คำนั้น ก็ไม่ใช่มาจากภาษาบาลีแน่นอน   เช่น  อุษา  ศิลปะ   กุศล  เป็นต้น
3.คำบาลีไม่นิยมคำควบกล้ำ  ดังนั้นถ้าเป็นคำควบกล้ำจะเป็นสันสกฤต  เช่น  วิทยา  (ทย กล้ำกัน )  บาลีจะใช้ว่า  วิชา  (วิชชา)    
4. คำสันสกฤต ใช้  รร  (ร เรผะ)  บาลีจะใช้  ริ  เช่น  จรรยา   บาลีใช้ว่า  จริยา  กริยา  บาลีใช้ว่า  กิริยา  เป็นต้น
5. สังเกตจากสระ  บาลี มีสระ  8 ตัว  สันสกฤตมี  14 ตัว  มากกว่า บาลี  6  ตัว คือ ฤ ฦ ฤาฦา ไอ เอา  ดังนั้น  ถ้าเราเห็นสระทั้ง 6 ตัวนี้  ก็บอกได้ว่า  เป็นสันสกฤตไม่ใช่บาลี  แน่นอน ค่ะ   เช่น   ฤาษี   ไมตรี  มไหศวรรค์  เยาวเรศ  เป็นต้น
6. สังเกตตัวพยัญชนะ  ถ้าบาลี  จะใช้  ฬ  ส่วนสันสกฤตจะใช้  ฑ  ฒ  เช่น  บาลีใช้  กีฬา  สันสกฤต ใช้ว่า  กรีฑา    จุฬา  เป็น  จุฑา  วิรุฬห์   เป็นวิรูฒ   เป็นต้น
7. สังเกต  จาก ตัว  ข  และ กษ  บาลี  จะใช้  ข  เมื่อสันสกฤตจะใช้  กษ  เช่น  เขมะ  สันสกฤตจะใช้ว่า  เกษม   ขณะ  สันสกฤตใช้ว่า  กษณะ  เป็นต้น
8.  สังเกตตัว  ส  ซึ่่งเป็นคำที่ใช้ได้ทั้ง คำบาลีและสันสกฤต  มักใช้กับพยัญชนะวรรค ตะ   (ทันตชะ)  เช่น  พัสดุ  พิสดาร  สวัสดี  เป็นต้น

             ฉันสรุปและยกตัวอย่างประกอบย่อ ๆ ดังกล่าวมาข้างต้น  หวังว่า  คงจะช่วยให้  "เด็กเรียน"  เข้าใจและใช้เป็นข้อสังเกต คำบาลีและสันสกฤตได้บ้างนะคะ

ลองทำแบบฝึกหัดสัก  5 ข้อ ซิคะ

1. คำบาลีในข้อใด  มีความหมายตรงกับสันสกฤต  ต่อไปนี้
    กฤษณะ     รัศมี     
    ก. กัณห   รัสส                                 ข. กัณณ  รังสี
    ค. กัณห   รังสี                                 ง.  กัณณ  รัสส
2. ข้อใดเป็นคำบาลี  ทุกคำ
    ก. อิจฉา  ขัตติยะ                             ข.  ปรกติ  ทิฐิ
    ค. ปรัชญา   สิกขา                           ง.  มณฑล  สมัคร
3. ข้อใด เป็นคำสันสกฤต  ทุกคำ
    ก.วิจิตร   แพทย์                               ข. อริยะ  เบญจรงค์
    ค. อัฒจันทร์  อัฉริยะ                        ง. อิสี  ขณะ  
4. ข้อใด  มีบาลี และสันสกฤต  อย่างละ  1 คำ
    ก. จรรยา  ประถม                               ข. กิตติ  อาชญา
    ค. อาทิตย์  สันติ                                 ง. อัคคี  มัชฌิม
5. ประโยชน์ใดไม่มีคำบาลี  สันสกฤตอยู่เลย
    ก. อย่าทำตัวเป็นคนวิตถารหน่อยเลย         ข. วันอาทิตย์หน้าฉันเรียนจบแล้ว
    ค. วิชาภมิศาสตร์ยากมากเลย                     ง. พ่อและแม่ของฉันไปเที่ยวยุโรป

เฉลย  1. ข้อ  ค        2. ข้อ ก      3. ข้อ ก      4. ข้อ ข       5. ข้อ ง   

        เป็นไงบ้าง  ถูกหมดไหมคะ   ขอให้โชคดีนะคะ   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น